กรมป่าไม้ แจงกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติตกจากสลิง “ไฟล์ท ออฟ เดอะ กิบบอน” เสียชีวิต จากการที่ได้มีการตเสนอข่าวผ่านสื่อหลายฉบับเกี่ยวกับกรณีที่นักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากเข้ามาใช้บริการเครื่องเล่นซิปไลน์ของผู้ประกอบการชื่อ “ไฟล์ท ออฟ เดอะ กิบบอน” ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2562 นั้น นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า จากกรณีที่นายสเปนเซอร์ ชาร์ล อายุ 25 ปี นักท่องเที่ยวชาวแคนาดา เดินทางมาท่องเที่ยวพร้อมกับภรรยา และเข้ามาใช้บริการเครื่องเล่นซิปไลน์ของผู้ประกอบการชื่อ “ไฟล์ท ออฟ เดอะ กิบบอน” ที่บ้านแม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ แล้วประสบอุบัติเหตุระหว่างเล่นซิปไลน์นั้น ซึ่งช่วงปี 2559 ได้เกิดเหตุนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 3 รายตกจากสลิงบนเครื่องเล่นจนได้รับบาดเจ็บ ในขณะนั้นกรมป่าไม้ จึงได้บูรณาการร่วมกับทางจังหวัดเชียงใหม่ แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบดำเนินการตามระเบียบและกฎหมาย และจากการตรวจสอบพบว่ามีพื้นที่ส่วนเกินประมาณ 1 ไร่ มีเครื่องเล่นจำนวน 4 ฐาน ก่อสร้างเกินออกมาจากเอกสารการแสดงการครอบครองที่ดิน (สค1) ทั้ง 3 ฉบับ และกรมป่าไม้ ได้สรุปเรื่องราวแจ้งดำเนินคดีและให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเครื่องเล่นจำนวน 4 ฐาน ออกไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2560 และจุดที่นักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุอยู่ในเขตแปลงที่ดินเอกสารแสดงการครอบครองที่ดิน (สค1) จำนวน 3 แปลงที่ทางผู้ประกอบการนำมาแสดงกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดิน อย่างไรก็ตามอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเพิ่มเติมว่าในวันนี้ (วันที่ 14 เมษายน 2562) เวลา10.30 น. ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ประสานบูรณาการร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว เข้าตรวจสอบสถานการประกอบการว่าได้มาตรฐานตามการอนุญาตหรือไม่เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมานักท่องเที่ยวได้รับอันตรายและสูญเสียชีวิตหลายครั้ง และหากพบว่าการประกอบการไม่ได้มาตรฐาน เห็นควรให้ระงับใบอนุญาต หรือยกเลิกใบอนุญาตต่อไป และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2562 อบต.ห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำสั่ง เลขที่ ชม 89103/188 ลงวันที่ 13 เมษายน 2562 ห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตรายตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งหรือมาตรา 41 วรรคหนึ่ง และคำสั่ง เลขที่ ชม 89103/189 ลงวันที่ 13 เมษายน 2562 ให้ดำเนินการแก้ไขอาคารตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง (กรณีที่อาคารมีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตราย ต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินฯ) และหากพบว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายป่าไม้ ก็ให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุดต่อไป อธิบดีกรมปาไม้กล่าว

"กรมป่าไม้ชี้แจงกรณีการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ" จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ในประเด็น “ครม.อนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A” ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและ ป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 จังหวัดสระบุรี นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ ขอเรียนชี้แจงว่า บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป.ส.23) เล่มที่ 101 เลขที่ 30-43 จากกรมป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2544 จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2554 ซึ่งปัจจุบันหมดอายุแล้ว แต่เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรม ได้อนุญาตประทานบัตร มีกำหนดระยะเวลา 25 ปี จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2579 ตาม พรบ.แร่ พ.ศ.2510 จึงต้องเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติผ่อนผัน ให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2548 ซึ่งจะต้องอนุมัติในพื้นที่เดิมที่เคยอนุญาตมาก่อน เป็นราย ๆ ไป รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า เมื่อหนังสืออนุญาตป่าไม้สิ้นอายุลง บริษัทฯ จึงได้ยื่นขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เดิม (ต่ออายุหนังสืออนุญาตฯ) โดยได้ผ่านความเห็นชอบรายงาน EIA และคณะทำงานผู้ชำนาญการรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบแล้ว และมีมติให้บริษัทฯ เฝ้าระวังด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนและคนงาน รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และบริเวณใกล้เคียง แต่อย่างใด แต่เนื่องจากประทานบัตรยังมีอายุอยู่ กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการตามกฎหมายขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ตามมติ ครม. เมื่อ 8 มีนาคม 2548 ทั้งนี้การอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 แห่ง พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 9 แห่ง พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 กรณีอนุญาตเพื่อการทำเหมืองแร่มีกำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกิน 10 ปี โดย ครม. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 มีมติ อนุมัติให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและ ป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ ท้องที่จังหวัดสระบุรี จำนวน 15 แปลง รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ในลุ่มน้ำชั้น 1A ได้ กรมป่าไม้จึงขอเรียนชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐไม่ได้ยกพื้นที่ป่าให้ปูนใหญ่ทำเหมืองหิน แค่เป็นการต่ออายุตามประทานบัตรเดิมเท่านั้น

อธิบดีกรมป่าไม้ลั่นไม่ปล่อยคนผิดลอยนวล พร้อมส่ง ผอ.สำนักฯแม่ฮ่องสอนให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างเต็มที่

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ชี้แจงถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองแม่ฮ่องสอน เข้าควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่มีอาการเมาสุราขับรถยนต์ชนคนได้รับบาดเจ็บแล้วหนี ว่า ในเบื้องต้นได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน เข้าไปดูแล และให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ พร้อมให้กำลังใจครอบครัว อีกทั้งกำชับให้ดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ ตนได้รับทราบจากการรายของหน่วยงานในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ชื่อนายสุธี สอนประสิทธิ์ ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ได้ขับรถกระบะโตโยต้า สีขาว ติดตรากรมป่าไม้ที่ประตูด้านขวา หมายเลขทะเบียน บค-9582 แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นรถยนต์ของทางราชการ ไปชนรถจักรยานยนต์บริเวณหน้าร้านก๋วยจั๊บนครสวรรค์ หมู่ 8 บ้านไม้แงะ ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จนทำให้คนขับรถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บ ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองแม่ฮ่องสอน ได้ควบคุมตัวไว้พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา จำนวน 3 ข้อหา คือ 1. ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส 2. ขับรถชนคนแล้วหนี 3. ขับขี่รถยนต์ขณะมึนเมาสุรา แล้วปล่อยตัวชั่วคราว

โดยในชั้นนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ได้สั่งให้ผู้บังคับบัญชาตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดโดยด่วนต่อไปแล้ว

ป่าไม้สอบจนท.เอี่ยวรุกป่า"แก่งกรุง"สืบลับลากคอเพิ่ม กรมป่าไม้แจงรุกป่า”แก่งกรุง”พันไร่ มีทั้งคดีเก่า-ใหม่ แถมแจ้งความเพิ่ม 100 ไร่ พร้อมตั้งสอบ3จนท.เอี่ยว ส่งพยัคฆ์ไพรสืบทางลับสาวตัวเพิ่ม จากกรณีพล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาค 4 พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจการบุกรุกพื้นที่ป่าเตรียมการเป็นป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.2484 ในเขตพื้นที่บริเวณป่าสันระเบิด ใกล้อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ต.ตะกุกเหนือ อ.วิภาวดีจ.สุราษฎร์ธานี หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ถึงความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่รัฐ เกรงกลุ่มนายทุนเข้ามามีอิทธิพล ทำให้ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าดังกล่าวจริง จากร่องรอยการแผ้วถาง ตัดไม้ทำลายป่า และยึดครองเป็นพื้นที่ทำกินจำนวนหลายพันไร่ ทั้งยังมีถนนตัดผ่านเพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มนายทุนในการขนย้ายไม้ผิดกฎหมายนั้น เมื่อวันที่ 27 ม.ค.นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล รองอธิบดีและโฆษกกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายจงรัก ทรงรัตนพันธุ์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (สุราษฎร์ธานี) ว่ากรณีดังกล่าว หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สฎ 6 และเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้สุราษฎร์ธานี สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวนภูธร จ.สุราษฎร์ธานีออกตรวจพื้นที่เพื่อขยายผลต่อเนื่องพบการบุกรุกพื้นที่ป่าเตรียมการป่าสงวน ป่าหมายเลข 92 บ้านบางเมาะ หมู่ที่ 9 ต.ตะกุกเหนือ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี พบพื้นที่ถูกบุกรุก เพิ่มเติม5 แปลง และพบการลักลอบทำไม้ 1 จุด ดังนี้ 1.ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถาง 1 แปลง เนื้อที่ 18-3-63 ไร่ ทำการตรวจยึดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามคดีอาญาที่ 25/2562 ลงวันที่ 24 ม.ค. 2.ทำการตรวจยึดไม้กระยาเลยจำนวน 9 ท่อน ปริมาตร 4.51 ลบ.ม. ร้องทุกข์กล่าวโทษ คดีอาญาที่ 26/2562 ยึดทรัพย์ที่ 16/2562 ลงวันที่ 24 ม.ค. 3. ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถางจำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 50-2-65 ไร่ ทำการตรวจยึดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามคดีอาญาที่ 27/2562 ลงวันที่ 24 ม.ค. นางอำนวยพร กล่าวอีกว่า 4. ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถาง จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 25-0-93 ไร่ และตรวจพบไม้กระยาเลย จำนวน 9 ท่อน 4 เหลี่ยม/ชิ้น ปริมาตร 7.56 ลบ.ม. ทำการตรวจยึดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามคดีอาญาที่ 28/2562 ยึดทรัพย์ที่ 17/2562 ลงวันที่ 24 ม.ค. 5. ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถาง เนื้อที่ 8-0-52 ไร่ ทำการตรวจยึดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามคดีอาญาที่ 33/2562 ลงวันที่ 25 ม.ค. 6.ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถาง เนื้อที่ 1-2-32 ไร่ ทำการตรวจยึดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามคดีอาญาที่ 32/2562 ลงวันที่ 25 ม.ค. นางอำนวยพร กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 ม.ค. คณะของได้ร่วมกันบินสำรวจการบุกรุกพื้นที่ป่า ต.ตะกุกเหนือ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี และตรวจพื้นที่ป่าถูกบุกรุก จำนวน 7 แปลง ได้สั่งการให้ชุดปฎิบัติการพิเศษสุราษฎร์ธานีและหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สฎ 6 (คลองท่าไม้แดง) สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทำการขยายผลตรวจสอบพื้นที่ทั้งอำเภอ และได้ดำเนินการออกคำสั่งให้หัวหน้าหน่วยและเจ้าหน้าที่ รวม 3 นาย ไปปฎิบัติราชการนอกพื้นที่อ. วิภาวดีแล้วเพื่อสะดวกในการสอบข้อเท็จจริงซึ่งสำนักฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าดังกล่าวข้างต้นแล้ว และจะดำเนินการเร่งรัดผลการสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว "ที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ทั้งนี้กรมป่าไม้ได้เร่งให้ สำนักจัดการฯ 11 สุราษฎร์ธานี ให้ไปตรวจสอบพื้นที่นี้ทั้งหมด โดยวันนี้กำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติมอีก 7 จุด ในเบื้องต้นพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งบุกรุกเก่าที่ได้ดำเนินคดีไปแล้ว และบุกรุกใหม่ จึงให้เจ้าหน้าที่แยกข้อมูลว่า บุกรุกเก่าตั้งแต่มติ ครม. 30 มิ.ย.2541 มีจำนวนเท่าเท่าไร หลังคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 มีการบุกรุกเพิ่มเท่าไร ทั้งนี้ พบว่ามีเจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลย ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง และย้ายออกจากพื้นที่แล้ว กำลังรอตัวเลขจาก สำนักจัดการฯ ที่ 11 ล่าสุดนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้สั่งการให้ทีมพยัคฆ์ไพรลงพื้นที่ไปสืบทางลับ เพื่อหาตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษด้วยแล้ว” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว ด้านนายจงรัก กล่าวว่า พื้นที่ป่าหมายเลข 92 เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการบุกรุกมานาน โดยมีชาวบ้านเข้ามาบุกรุกปลูกยางพารา เนื่องจากพื้นที่ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานฯ แก่งกรุง หรือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่เป็นพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 การบังคับใช้กฎหมายในการรื้อถอนพืชผลอาสินตามกฎหมายอุทยานหรือกฎหมายป่าสงวนจึงทำไม่ได้ ต้องรอคำสั่งศาลในการดำเนินการ ซึ่งต้นยางพาราหรือพืชผลของชาวบ้านก็โตขึ้นทุกวัน เรื่องนี้จึงยังเป็นปัญหาค้างคาอยู่...

กรมป่าไม้ผนึกประชาชนฟื้นป่าเมืองน่าน

วันที่ 28 ต.ค. นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ โฆษกกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวชี้แจงการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นที่จังหวัดน่าน พร้อมขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้เขามาร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไขและฟื้นฟูให้ป่าเมืองน่านกลับมาสมบูรณ์เหมือนดังอดีตที่ผ่านมา ในส่วนของกรมป่าไม้ ได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยได้รับร่วมมือกับประชาชนทุกภาคส่วน ดังนี้ 1. จังหวัดน่านมีพื้นที่ 7.58 ล้านไร่ เป็นพื้นที่มีสภาพป่า 4.65 ล้านไร่ (61.39 %) พื้นที่ไม่มีสภาพป่า 2.93 ล้านไร (38.61%) 2.จังหวัดน่านมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ 3.22 ล้านไร่ เป็นพื้นที่มีสภาพป่า 1.87 ล้านไร่ พื้นที่ไม่มีสภาพป่า 1.35 ล้านไร่ นอกจากนี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ประมาณ 2.83 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้ เป็นพื้นที่ไม่มีสภาพป่าประมาณ 205,000 ไร่ 3.ที่ผ่านมาพื้นที่เขาหัวโล้นของจังหวัดน่านส่วนใหญ่ได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าตามแผนงานของศูนย์จัดการต้นน้ำและโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ นางอำนวยพรกล่าวต่อว่าสำหรับกรมป่าไม้ได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพเขาหัวโล้นในท้องที่จังหวัดน่านถึงปัจจุบันดังนี้ ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าตั้งแต่ปี 2556 พื้นที่รวม 43,300 ไร่ โดยปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่างตั้งแต่ปี 2560 โดยราษฎรปลูกไม้ยืนต้นควบคู่กับการทำกินตามโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เนื้อที่รวม 13,920 ไร่ สมาชิก 1,300 ราย 4.ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาราษฎรทำประโยชน์ในพื้นที่เขาสูงชันตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.61 โดยกำหนดมาตรการให้ราชการร่วมวางแผนกับราษฎรและกรรมการหมู่บ้านเพื่อดำเนินการตามแนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าโดยประชาชนใช้ประโยชน์ระหว่างแถวของต้นไม้และเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไม้ที่ปลูกและพืชพื้นล่างด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งชุดปฏิบัติการ คทช.อำเภอเพื่อลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับราษฎรในพื้นที่จังหวัดน่านแบ้สเสร็จในเดือนมีนาคม 2562 5.การดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าของจังหวัดน่านมีหน่วยราชการ องค์กรเอกชน และภาคประชาชน ให้ความสนใจร่วมบูรณาการการทำงานในหลายพื้นที่ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่และขอบคุณในความตั้งใจฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำจังหวัดน่านเป็นอย่างยิ่ง

นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกประจำกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมป่าไม้กำลังเปิดคัดเลือกเจ้าหน้าที่ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส จำนวน 16 ตำแหน่ง โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้มาปฏิบัติหน้านั้นจะมีหน้าที่ในการปฏิบัติงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการปฏิบัติงานในการกำหนดแผนงานการปฏิบัติงานด้านป่าไม้ และช่วยวิชาการป่าไม้เกี่ยวกับการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง ดูแล ทรัพยากรป่าไม้ ฯลฯ และงานด้านป่าไม้อื่น ๆ ตลอดจนการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาการดำเนินงานให้ทันต่อสถานการณ์ 2) ด้านการกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมให้คำปรึกษา แนะนำให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) ด้านบริการ เจ้าหน้าที่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับงานด้านป่าไม้แก่หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และสามารถประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยตำแหน่งดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้กำหนดคุณสมบัติไว้ โดยบุคลากรที่จะเข้ารับการสมัครเพื่อคัดเลือกจะเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ ที่อยู่ในระดับชำนาญงาน มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปี ซึ่งสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาการเกษตรศาสตร์ หรือในระดับประกาศนียบัตรวิชาการป่าไม้ หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบเท่า ซึ่งขณะนี้ได้อยู่ในช่วงระหว่างการเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งคาดว่าจะสามารถแต่งตั้งผู้ได้รับคัดเลือก ในตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโสได้ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส แล้ว กรมป่าไม้จะมีการเปิดตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ระดับชำนาญการพิเศษ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอขอให้มีการเปิดสอบคัดเลือก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเปิดสมัครสอบคัดเลือกได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะสามารถแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งได้ในช่วงเดือนมกราคม 2562 และปฏิบัติหน้าที่ให้กับกรมป่าไม้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตามที่ได้รับการคัดเลือกมาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรมป่าไม้ www.forest.go.th “ กรมป่าไม้ เร่งดำเนินการในด้านการคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้มาปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ ซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้กำชับเจ้าหน้าที่ในการคัดเลือกบุคลากรให้มีความเป็นธรรมและเป็นไปตามกรอบแนวทางการคัดเลือกตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้กำหนดไว้ ”

ทส. แจงยังไม่อนุญาตให้ตัดต้นไม้ใหญ่ เส้นทางกาฬสินธุ์

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.61 กรณีการโพสต์ข่าวของกลุ่ม Big tree ประเด็นต้นไม้ใหญ่บริเวณเส้นทาง จ.กาฬสินธุ์ ถนนเส้นหลัก กาฬสินธุ์-กมลาสัย-ร่องคำ อายุหลายร้อยปีจำนวนหลายสิบต้น มีแต้มสีแดง คล้ายจะถูกตัดในไม่ช้า เพื่อสร้างถนน น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวได้มอบหมายให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) ลงพื้นที่สำรวจการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 214 สายกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ระหว่าง กม 14+ 500 – 20 + 225 และ กม 20 + 820 - 30 + 500 ระยะทางรวม 15.405 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ได้ออกไปสำรวจประทับตราประจำต้นแล้ว ตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการสำรวจและทำไม้ในบริเวณป่าที่เปิดใช้ที่ดินเพื่อทำประโยชน์ พ.ศ.2525

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบต้นไม้ ประกอบด้วย ไม้ยาง จำนวน 67 ต้น, ไม้นนทรี จำนวน 6 ต้น, ไม้ตะเคียนทอง จำนวน 1 ต้น, ไม้ประดู่ จำนวน 17 ต้น, ไม้สะแบง จำนวน 2 ต้น, ไม้มะค่าแต้ จำนวน 1 ต้น, ไม้มะพอก จำนวน 1 ต้น, ไม้มะขามป่า จำนวน 1 ต้น รวมทั้งสิ้น 96 ต้น จริง

น.ส.สุทธิลักษณ์ เปิดเผยต่อว่าในการพิจารณาอนุญาตทำไม้สองข้างทาง นอกจากดำเนินการตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการสำรวจและการทำไม้ในบริเวณป่าที่เปิดใช้ที่ดินเพื่อทำประโยชน์ พ.ศ. 2525 แล้ว ยังมีประเด็นสำคัญประกอบการพิจารณาจะต้องผ่านขั้นตอนการประชาพิจารณ์ของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการพิจารณาตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตทางหลวงแผ่นดินประกอบ เมื่อได้รับเรื่องแล้ว กรมป่าไม้จะสั่งการและแจ้งให้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) ประสานให้แขวงการทางฯไปดำเนินการตามระเบียบ ขั้นตอนให้ครบถ้วนต่อไป


กรมป่าไม้เร่งแจงชาวบ้านไม่พบ บ.ปาล์มน้ำมันรุกที่เพิ่มจากการอนุญาตในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมจับมือทุกภาคส่วนเฝ้าระวังการรุกป่า นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ชี้แจงถึงกรณีการนำเสนอข่าวในประเด็นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าย่านยาว ป่าเขาวง จ.กระบี่ โดยที่ชาวบ้านกลุ่มเกษตรสรรค์สร้างสังคมใหม่ได้ปิดทางเข้า-ออก สวนปาล์มน้ำมัน ของบริษัทไทยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจำกัด ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ พร้อมห้ามคนงานของบริษัทเข้าเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมัน หลังจากตรวจสอบพบว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าย่านยาว ป่าเขาวง และเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม กว่า 7,000 ไร่ เป็นเวลามานานกว่า 20 ปี และบริษัทดังกล่าวได้ครอบครองพื้นที่รวม 15,962 ไร่ ทั้งที่ได้รับอนุญาตสัมปทานพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวน 8,500 ไร่ แต่ได้การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 7,712 ไร่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการใดๆ ยังคงปล่อยให้บริษัทเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไป ว่า บริษัทไทยอุตสาหกรรมนำ้มันและสวนปาล์มจำกัด ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าย่านยาว ป่าเขาวง และป่ากระซุม อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 8,250 ไร่ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2536 ในระยะเวลา 30 ปี ซึ่งต่อมาในปี 2540 ได้มีการปรับเขตการปกครองใหม่ จึงทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ในเขตของจังหวัดกระบี่ นายชลธิศ กล่าวต่อว่า ด้านนายอาคม นะวานิตย์ ตัวแทนราษฎรผู้เดือดร้อนได้มีหนังสือลงวันที่ 18 ธันวาคม 2559 ขอให้กรมป่าไม้ตรวจสอบพื้นที่ที่บริษัทขอใช้ประโยชน์ว่ามีการดำเนินการที่ผิดเงื่อนไขการขออนุญาตหรือไม่ ซึ่งทางกรมป่าไม้ มีหนังสือ ที่ ทส 1602.3/2352-5 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายอาคม เพื่อร่วมตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวแล้วปรากฎว่า ไม่พบการบุกรุกพื้นที่เพิ่มจากที่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด ส่วนพื้นที่นอกเหนือจากการอนุญาตตามข่าวที่อ้างว่ามีการบุกรุก จำนวน 7,712 ไร่ นั้น ประกอบด้วยพื้นที่ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์แต่ยังคงมีสภาพเป็นป่าและไม่พบการบุกรุก จำนวน 1,312 ไร่ พื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ 2,820 ไร่ และพื้นที่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานอื่น แบ่งเป็นพื้นที่นิคมสหกรณ์ อ่าวลึก 2,500 ไร่ และพื้นที่ ส.ป.ก. 1,080 ไร่สำหรับบริเวณที่ชาวบ้านกลุ่มเกษตรสรรค์สร้างสังคมใหม่ได้ปิดทางเข้า-ออก สวนปาล์มน้ำมันของบริษัทฯ นั้น เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของนิคมสหกรณ์ "ทั้งนี้ กรมป่าไม้จะประสานงานกับนิคมสหกรณ์ ส.ป.ก. อำเภอปลายพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งจะดำเนินการเฝ้าระวังมิให้มีการบุกรุกเพิ่มจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากส่วนราชการ" อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

กรมป่าไม้ลั่นยังไม่มีการอนุญาตสร้างสนามบินพังงา นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่คลองทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีความกังวลเรื่องโครงการก่อสร้างสนามบิน ของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอกแอร์เวย์ส ในเขตป่าสงวนแห่งชาติคลองทุ่งมะพร้าว ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เนื้อที่ประมาณ 2 พันไร่ กำหนดเวลา 30 ปี ที่อาจส่งผลกระทบกับชีวิตชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติคลองทุ่งมะพร้าว ว่า กรมป่าไม้ยังไม่มีการพิจารณาอนุญาตใด ๆ ให้ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองทุ่งมะพร้าว ท้องที่หมู่ที่ 4 ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประกอบการพิจารณา แต่ที่ผ่านมาการยื่นคำขออนุญาตยังไม่มีการจัดทำ EIA และโครงการก่อสร้างสนามบินดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน กรมป่าไม้ยังต้องรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาพิจารณาภายใต้ระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อใดที่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน กรมป่าไม้จะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป นายชลธิศ กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอเป็นเอกชนจะต้องยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารแนบท้ายคำขอ (เช่น ความเห็นชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเริ่มจากผู้ขอยื่นคำขอที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดท้องที่ จากนั้นจะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาภายใน 7 วัน เพื่อให้ผู้ว่าฯ สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพป่าภายใน 15 วัน พร้อมทั้งแจ้งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ร่วมดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ แล้วรายงานผลต่อผู้ว่าฯ ภายใน 30 วัน หลังตรวจสภาพป่าเสร็จสิ้น จากนั้นผู้ว่าฯ และผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ทำความเห็นเสนอกรมป่าไม้ภายใน 15 วัน เมื่อกรมป่าไม้ได้รับเรื่องราวคำขอดังกล่าวจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณา จากนั้นจะนำผลการพิจารณาเสนอคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ หากเห็นชอบกรมป่าไม้จะแจ้งจังหวัดท้องที่เพื่อออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “นับจากนี้ไปการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ต้องมีการพิจารณาในทุกมิติ และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่ประเทศชาติจะได้รับ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติถือเป็นหลักคิดสำคัญก่อนการอนุมัติโครงการใด ๆ” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

กรมป่าไม้พร้อมลุยตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่แม่ฮ่องสอน นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงกรณีที่ ดีเอสไอ ตรวจสอบคดีการตัดไม้ทำลายป่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้วพบขบวนการลักลอบตัดไม้ในรูปแบบใหม่ โดยปลอมเอกสารสิทธิ์หรือการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและนำไปขึ้นทะเบียนสวนป่าเพื่อขอตัดไม้โดยมีการตัดไม้สักธรรมชาติไปแล้วส่วนหนึ่ง ว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้แจ้งประสานให้กรมป่าไม้เข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งตนได้สั่งการให้ นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กำหนดแผนปฏิบัติร่วมตรวจสอบและดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ กรมป่าไม้จะลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนพร้อมกับ ดีเอสไอ ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เพื่อร่วมตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และหากพบการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบจะส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนต่อไป อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2557 กรมป่าไม้ร่วมกับ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กอ.รมน. กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการภายใต้คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุน กลุ่มขบวนการผู้มีอิทธิพล โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ยากไร้มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ภายใต้การนำของ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานการปราบปรามการกระทำผิดอันเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ โดยมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับศูนย์ปฏิบัติการของ กอ.รมน. เหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และติดตามผลการปฏิบัติให้เกิดความรวดเร็วและประสิทธิภาพ

กรมป่าไม้ยืนยันให้ความเป็นธรรมและโปร่งใสกับม้งภูทับเบิกทุกราย นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงกรณีที่นายยุพราช บัวอินทร์ อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำกลุ่มตัวแทนเจ้าของรีสอร์ตบนภูทับเบิก เตรียมเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อขอให้ชะลอการปฏิบัติตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 35/59 กรณีมาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก โดยระบุว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ที่ครอบครองทำประโยชน์มิใช่ป่าตามมาตรา 4 (1) พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 แต่เป็นที่ดินที่ครอบครองสืบสิทธิต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิม และขณะนี้ชาวบ้านเกิดความสับสนต่อนโยบาย 3-8-8 ที่ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง เหลือไว้แต่สิ่งปลูกสร้างที่มั่นคงแข็งแรง แต่ภายหลังกลับมาถูกมาตรา 44 ให้รื้อถอนทั้งหมดทั้งที่ยังไม่ได้ขึ้นศาล และยังไม่ทราบว่ามีความผิดผิดเช่นไร แต่กลับถูกปิดประกาศไม่ให้เปิดบริการ ว่า พื้นที่ป่าภูทับเบิก ยังคงมีสถานะเป็นพื้นที่ป่า ตามคำนิยามศัพท์ ของคำว่า”ป่า” ตามมาตรา 4 (1) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่ให้ความหมายไว้ว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ดังจะเห็นได้จากการพิจารณาในชั้นศาลเพื่อวินิจฉัยสถานะของพื้นที่ในบริเวณภูทับเบิกตามคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลกเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 โดยอำนาจหน้าที่ในการควบคุม ดูแล ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าเป็นของกรมป่าไม้ ฉะนั้นการปฏิบัติการใด ๆ จึงเป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบของกฎหมาย อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีคำสั่งที่ 35/2559 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการกับผู้ที่เข้ามายึดถือครอบครองที่ดินบนภูทับเบิก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 จำนวน 19 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ แต่เมื่อไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล จึงได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งดังกล่าวดำเนินการรื้อถอน ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 เจ้าหน้าที่ได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งที่ 35/2559 ของ คสช. และแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก (3 - 8 - 8) มาใช้เป็นแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา โดยในกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มาร้องเรียนนั้น ได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ถือครองที่ดินจากหลักฐานของกรมประชาสงเคราะห์เดิม และลักษณะการก่อสร้างรีสอร์ต พบว่ามีจำนวน 19 ราย อยู่ในพื้นที่กรมป่าไม้ 18 ราย และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 1 ราย โดยใน 18 ราย เป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนดไว้ จำนวน 10 ราย ซึ่งได้ดำเนินการรื้อถอนไปแล้ว อีก 8 รายอยู่ในชั้นการพิจารณาของอัยการ สำหรับกลุ่มที่ 3 จำนวน 64 ราย ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาตามคำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ 1519/2559 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ผลปรากฏว่า 14 รายขาดคุณสมบัติ และอีก 50 ราย เป็นราษฎรในพื้นที่ที่มีคุณสมบัติ จึงจะได้รับการพิจารณาให้ใช้ประโยชน์ตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก
“สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มม้งทั้ง 8 รายนั้น ทางคณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการรื้อถอนและเก็บทรัพย์สินของกลาง ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก เป็นหัวหน้าคณะทำงาน จะเสนอให้มีการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนดไว้หรือไม่ พร้อมทั้งจะดำเนินการชี้แจงกับราษฎรชาวไทยภูเขา ผู้นำชุมชน และตัวแทนผู้ร้องเรียนให้เข้าใจถึงมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกที่ถูกต้องต่อไป ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการด้วยความโปร่งใสและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ได้เปิดเผยถึงกรณีการต่อต้านของกลุ่มชาวบ้านในนาม"กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว" ในประเด็นการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินที่บ้านคอนสาและบ้านสาธร ต.เชียงกลม อ.ปากชม จ.เลย ของ หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง และ บริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด ว่าหน่วยงานราชการกับผู้ประกอบการเข้ามาปักป้ายเขตคำขอประทานบัตร ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน นั้น กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้วและป่าดงปากชม ตำบลเชียงกลม อำเภอปากชม จังหวัดเลย นอกจากนี้ กรมป่าได้ยังได้รับแจ้งจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย ว่ากลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว ได้เคยมีหนังสือร้องเรียน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2559 โดยหน่วยงานดังกล่าวได้มีหนังสือชี้แจงกลับไปในวันเดียวกัน นอกจากนี้ได้สั่งการให้ตรวจสอบจากระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาต พบว่า หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง ไม่พบว่ามีการยื่นคำขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ ในเขตอำเภอปากชม แต่สำหรับบริษัท ซี.เอส.เอ็นไมนิ่ง จำกัด ได้ขออนุญาตจากกรมป่าไม้ ในการใช้พื้นที่เพื่อศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยกรมป่าไม้ได้ออกหนังสืออนุญาต ป.ส.26 เล่มที่ 03 ฉบับที่ 04 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2558 เพื่อสำรวจศึกษาธรณีวิทยาแหล่งแร่และการเจาะสำรวจ ตามอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ที่ 72/2557 เนื้อที่ 1,103-01-88 ไร่ การอนุญาตสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ซึ่งปัจจุบันได้สิ้นสุดการอนุญาตแล้ว อธิบดีกรมป่าไม่ ได้กล่าวต่ออีก ถึงแนวทางปฏิบัติซึ่งจะยึดแนวทางการดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 อย่างเคร่งครัด ในการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกทั้งนี้จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายจัดที่ดินทำกินสำหรับประชาชน หากพื้นที่ใดมีประชาชนถือครองใช้ประโยชน์ กรมป่าไม้จะดำเนินการตรวจสอบพิจารณาเพื่อนำเข้าโครงการ และจะไม่อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่แปลงนั้นๆ ในส่วนของการขออนุญาตทำเหมืองถ่านหินทุกขนาดนั้น จะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมป่าไม้จะพิจารณาโครงการที่ผ่านการเห็นชอบจากการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเท่านั้น ทั้งนี้จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น จะมีการตรวจสอบว่ามีการข่มขู่ชาวบ้านจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือไม่ หากพบการกระทำดังกล่าว กรมป่าไม้จะดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการสอบสวนทางวินัยต่อไป

กรมป่าไม้ เพิ่มฐานปฏิบัติการทางยุทธวิธีป้องกันรักษาป่าบนเกาะพะงัน นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงกรณีการบุกรุกป่าบนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่ามีกลุ่มนายทุนเข้ามาลักลอบตัดไม้ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และ แนวเขตที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติชาติธารเสด็จ เพื่อเข้าจับจองที่ดินบนเกาะพะงัน ในการใช้ทำที่พักให้นักท่องเที่ยว และตัดไม้ส่งขาย จนเกิดปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อครอบครองที่ดินโดยมิชอบ และการปลูกโฮมสเตย์รุกล้ำแนวเขตทะเล ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ กรมป่าไม้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแล้วพบว่า พื้นที่บนเกาะพะงัน จำนวน 105,000 ไร่ ส่วนหนึ่งประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะพะงัน เนื้อที่ 24,450 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ถาวร เนื้อที่ 2,727ไร่ และเป็นพื้นที่ที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพะงัน โดยมีเนื้อที่ทางบกและทางทะเล รวมเนื้อที่ 26,895 ไร่ ในส่วนของกรมป่าไม้ ได้มีสั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษพยัคฆ์ไพร ประสานงานร่วมกันในการปฏิบัติงาน โดยร่วมปฏิบัติการร่วมกันกับชุดปฏิบัติการพิเศษพญาเสือ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อพื้นที่ป่าไม้บนเกาะพะงัน ทั้งนี้ ผลจากการปฏิบัติการดังกล่าวสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าไม้ จำนวน 9 คดี รวมเนื้อที่กว่า 393 ไร่ และคดีลักลอบทำไม้ อีก 1 คดี มีปริมาตรของไม้ 0.69 ลบ.ม. และนอกจากนี้ ยังได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบทำไม้ในเขตพื้นที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเตรียมการ ธารเสด็จ-เกาะพะงัน จำนวน 3 คดี ตรวจยึดไม้ท่อน 10 ท่อน ไม้แปรรูป 116 แผ่น มีปริมาตร43.18 ลบ.ม โดยทั้งนี้ จะได้ขยายผลถึงกลุ่มนายทุนผู้กระทำผิดที่บุกรุกพื้นที่ และการลักลอบทำไม้มีค่ามาดำเนินคดีต่อไป อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นถึงการแก้ไขการบุกรุกพื้นที่ป่า จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) โดยมี กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำหนดแผนปฏิบัติการการป้องกันขบวนการลักลอบทำไม้ การบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดิน โดยจะเพิ่มฐานปฏิบัติการทางยุทธวิธี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันรักษาป่าให้มากขึ้น พร้อมทั้งสร้างแนวร่วมสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของกลุ่มพี่น้อง ชาวบ้านบนเกาะ โดยการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนบนพื้นที่เกาะถึงข้อกฎหมายในการบุกรุกพื้นที่ป่า และเป็นการสร้างกระแสร่วมกันต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดตั้งเครือข่าย

กรมป่าไม้ยืนยันทวงคืนผืนป่าไม่มี 2 มาตรฐาน นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงกรณีที่นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้โพสต์ภาพถ่ายทางอากาศที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ในเฟสบุ๊ก โดยระบุว่ามีรีสอร์ทตั้งอยู่บนที่ดินที่จัดให้กับราษฎรอาสาทำกินในการทำการเกษตร ซึ่งนายทุนเข้ามาซื้อโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดได้ พร้อมทั้งกล่าวหาว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน โดยเปรียบเทียบกับกรณีของพื้นที่ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ที่ใช้อำนาจ ม.44 ในการดำเนินการนั้น ทางกรมป่าไม้ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาปางก่อ ป่าวังชมภู และป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาโปลกหล่น ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.เขาค้อ ต.สะเดาะพง ต.ริมสีม่วง และ ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งกองทัพภาค 3 ได้ขออนุญาตใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2520 - 2533 จำนวน 5 ครั้ง 8 แปลง เนื้อที่รวม 126,368 ไร่ เพื่อจัดสรรให้ราษฎรอาสาสมัคร (รอส.) อยู่อาศัยทำกิน ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ต่อมาปี 2555 จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ได้ทำหนังสือถึงกรมป่าไม้เพื่อส่งมอบพื้นที่คืนบางแปลง กรมป่าไม้จึงขอให้จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์จัดส่งรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินที่ได้จัดสรรให้หน่วยงานราชการ และ รอส. ว่ามีแปลงที่ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขและแปลงที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดกี่แปลง พร้อมแผนที่ที่เกี่ยวข้อง อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า ในช่วงตั้งแต่ปี 2554 - 2559 กรมป่าไม้ร่วมกับกองทัพภาค 3 และจังหวัดเพชรบูรณ์ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวพบว่า มีสิ่งก่อสร้างลักษณะรีสอร์ท ประมาณ 400 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินคดีไปแล้ว 64 แห่ง ส่วนรีสอร์ทที่ปรากฏตามภาพข่าวนั้น อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก (รอส.) แปลงที่ 2 ซึ่งขณะนี้คณะทำงานสำรวจพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่กองทัพภาค 3 ขอใช้ประโยชน์ท้องที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ กำลังดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงการถือครองที่ดินดังกล่าว นายชลธิศ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงกรณีการใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 35/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ว่า ต้องขึ้นอยู่กับสภาวการณ์และลักษณะพื้นที่ ซึ่งแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน อย่างกรณีพื้นที่ภูทับเบิกเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 เมื่อพบการกระทำผิดไม่สามารถรื้อถอนได้ ต้องนำเรื่องสู่กระบวนการฟ้องทางแพ่งเพื่อขับไล่ ประกอบกับผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และความเป็นอยู่ของราษฎรทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการระงับ ปราบปราม และป้องกันการกระทำดังกล่าว ในขณะที่พื้นที่เขาค้อ ซึ่งกองทัพภาค 3 ขอใช้ประโยชน์อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อพบการกระทำผิดเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจดำเนินคดีและรื้อถอนภายใต้กรอบของกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ดังนั้น การป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายป่าไม้จะดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ จึงมิใช่การปฏิบัติสองมาตรฐานแต่อย่างใด “ปัจจุบันกรมป่าไม้ กองทัพภาค 3 และจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบการครอบครองที่ดินพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ทั้งหมด หากพบว่ามีรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของกองทัพภาค 3 จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปอย่างจริงจังและเด็ดขาด” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

กรมป่าไม้ จัดหนักกิจกรรม "เคเบิลไรด์" เร่งดำเนินคดีบุกรุกป่าสงวนฯ

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงกรณีที่มีชาวบ้านในพื้นที่ ต.ตะพง อ.เมืองระยอง แจ้งเบาะแสว่า ที่บริเวณหมู่ 14 ที่ตั้งโครงการป่าชุมชนบ้านบ่อหินลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมเล่น “Cable Rides” เคเบิล ไรด์ ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเล่นกันเป็นประจำทุกวันในพื้นที่ป่าต้นน้ำเขายายดา ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากะเฉด ป่าเพ และป่าแกลง ชาวบ้านมองว่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้ามดำเนินการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ แต่ทราบว่ามีการเก็บเงินชาวต่างชาติที่ขึ้นไปเล่น และเงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่ได้นำมาช่วยเหลือให้กับชุมชนแต่อย่างใดนั้น ทางกรมป่าไม้ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่เคยลงไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวมาแล้วทราบว่ามีพื้นที่ถูกบุกรุก รวม 4-0-91 ไร่ แต่ไม่พบตัวผู้กระทำผิด จึงได้ตรวจยึดและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้พุทธศักราช 2484 โดยส่งพนักงานสอบสวน สภ.อ.เมือง จ.ระยอง ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนและมีการเร่งรัดการดำเนินการสอบสวนจากพนักงานอัยการจังหวัดระยอง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 คณะเจ้าหน้าที่ชุดตรวจยึดได้ไปตรวจสอบเพิ่มเติมยังพบว่า มีการลักลอบเล่นกิจกรรมดังกล่าวอยู่ จึงได้ติดตามผลคดีไปยังพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนในการแจ้งพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเพื่อที่จะดำเนินการติดประกาศให้ผู้กระทำผิดทำการรื้อถอนตาม มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ ต่อไป อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า วันนี้ (12 มี.ค. 60) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบอีกครั้งจึงพบว่ามีการนำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าเล่นกิจกรรมเคเบิล ไรด์ จริง จึงได้จับกุมดำเนินคดีกับผู้นำเที่ยวจำนวน 2 ราย ข้อหากระทำการใดๆ อันเป็นการทำลายแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้พุทธศักราช 2484 พร้อมติดป้ายประกาศบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ตรวจยึดดำเนินคดี ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปดำเนินการ หากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายทันที ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกตรวจยึดจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย เพื่อนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.อ.เมือง จ.ระยอง ต่อไป โดยในระหว่างตรวจยึดจับกุมคณะเจ้าหน้าที่ได้ประสานงานกับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขยายผลการตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีการจัดกิจกรรมรูปแบบดังกล่าวในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ ในจังหวัดระยองหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำผิดก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ กรมป่าไม้จะมอบหมายทีมพยัคฆ์ไพรลงตรวจสอบในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ กรมป่าไม้จะดำเนินการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่ามีเจ้าหน้าที่หรือพนักงานคนใดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องจะดำเนินการทางวินัยขั้นสูงสุด รวมทั้งได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ปกครองร่วมกันประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยเป็นเครือข่ายในการป้องกันรักษาป่า หากมีการเข้าไปดำเนินการจัดกิจกรรมในทำนองเดียวกันให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผ่านสายด่วน 1310 ต่อ 3